วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ภาคกลาง

ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา
           จากการค้นพบโบราณวัตถุหลายชิ้น เป็นต้นว่า ลูกปัด เครื่องประดับทำด้วยทองหรือดีบุก ที่ประทับตราหรือตราขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เหรียญเงินศรีวัตสะ เศษเครื่องปั้นดินเผา ฯลฯ ที่เมืองอู่ทองซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับวัตถุที่ค้นพบที่เมืองออกแก้วซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเมืองท่าของอาณาจักรฟูนัน ในแหลมโคชินไชนา ในประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียตนามภาคใต้มาก  วัตถุเหล่านี้ไม่เคยพบในที่อื่นในแหลมอินโดจีน และเชื่อกันว่าเป็นวัตถุของอาณาจักรฟูนัน  (พุทธศตวรรษที่ 6- พุทธศตวรรษที่ 10) โดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังได้ค้นพบประติมากรรม ศิลปอินเดียสมัยอมราวดี
        จากหลักฐานโบราณสถาน โบราณวัตถุในดินแดนประเทศไทย ทำให้เราได้ทราบว่าอารยธรรมอินเดีย ได้หลั่งไหลแผ่เข้ามายังดินแดนประเทศไทย ตั้งแต่ครั้งพุทธศตวรรษที่ 6-7 ชาวอินเดียเรียกประเทศไทยว่า "ดินแดนสุวรรณภูมิ" และได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งในแหลมอินโดจีนพร้อมทั้งได้นำวัฒนธรรมและศาสนา คือ ศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนา เข้ามาเผยแพร่ด้วย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 7  ถึง 11  ตามหลักฐานจากจดหมายเหตุของจีนว่ามีอาณาจักร "ฟูนัน" ตั้งอยู่แถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ และได้แผ่อาณาเขตไปทางทิศตะวันตกถึงแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย เมื่ออาณาจักร "ฟูนัน" สลายตัวในต้นพุทธศตวรรษที่ 12 แล้ว ในดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้เกิดอาณาจักรที่สำคัญทางพุทธศาสนาขึ้น ชื่อว่า อาณาจักรทวาราวดี
         คำว่า   "ทวาราวดี"  เดิมเป็นเพียงข้อสันนิษฐานจากชื่ออาณาจักรที่จดหมายเหตุจีนเรียกว่า "โถโลโปติ" (To-lo-po-ti) ว่า ตรงกับคำสันสกฤตว่า "ทวาราวดี" และคำนี้ได้ติดอยู่เป็นสร้อยชื่อของนครหลวงของประเทศไทย มาตั้งแต่สมัยอยุธยา ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2512 ได้มีผู้พบเหรียญเงินมีอักษรจารึกที่นครปฐมคำจารึกเป็นอักษรสันสกฤต รุ่นพุทธศตวรรษที่ 13 มีข้อความว่า "ศรีทวาราวดี ศวรปุณยะ" แปลว่า "บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวาราวดี" อันแสดงว่าอาณาจักรทวาราวดีนั้นมีจริงในประเทศไทย
          อาณาจักรทวารวดีเป็นอาณาจักรประวัติศาสตร์สมัยแรกในประเทศไทย อาณาจักรนี้มีเมืองอู่ทองอาจเป็นราชธานีอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง มีการค้นพบแผ่นทองแดง ของพระเจ้าหรรษาวรมันที่เมืองอู่ทอง ซึ่งมีจารึกใช้ตัวอักษรอยู่ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 12 ก็อาจหมายความว่า พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้เป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรก ที่ทราบพระนามสำหรับอาณาจักรทวารวดี เมืองอู่ทองจึงเป็นเมืองสำคัญในอาณาจักรทวารวดีในพุทธศตวรรษที่ 11-12
         ประวัติของไทยนั้นเก่าแก่มาก จดหมายเหตุจีนเมื่อประมาณ 300 ปีก่อนพุทธกาลกล่าวถึงภูมิลำเนาเดิมของไทยว่าอยู่ในลุ่มน้ำตอนกลางของแม่น้ำเหลือง ซึ่งอยู่ในท้องที่มณฑลฮูเป และโฮนานในบัดนี้ ในสมัยเดียวกันนั้น จีนก็ได้มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ตามที่ราบสูง ในลุ่มน้ำเหลืองตอนบน คือ มณฑลกังซูในบัดนี้ ซึ่งเห็นจะเป็นเพราะถูกพวกต้นตระกูลตาดรุกราน จึงได้ร่นลงมาและปะทะกับไทยเข้า ไทยมีจำนวนน้อยจำต้องร่นลงมาทางใต้หลายทิศหลายทาง
         พวกไทยส่วนมากร่นลงมาตามแม่น้ำแยงซีเข้าไปในยูนนาน ต่อสู้ชนะพวกพื้นเมืองเดิมและได้ตั้งอาณาจักรน่านเจ้า โดยมีตาลีฟูเป็นเมืองหลวง ต่อมาเมืองหลวงก็ได้ย้ายไปตั้งอยู่ ปูเออฟู อาณาจักรน่านเจ้าครอบครองท้องที่มณฑลยูนนานปัจจุบัน พม่าเหนือและภาคเหนือของสิบสองปันนาประวัติของไทยในสมัยที่กล่าวนี้ รุ่งเรืองที่สุดและอำนาจอยู่อย่างนี้ 4 ศตวรรษ
         เมื่อจีนรุกรานหนักเข้า ไทยก็จำต้องอพยพร่นลงมาอีก และกว่าจะต่อสู้เอา ชัยชนะขอมเจ้าของถิ่นเดิมได้ ก็เป็นเวลาตั้งหลายศตวรรษ แล้วจึงได้ตั้งอาณาจักรใหม่ ณ เชียงแสน บนฝั่งแม่น้ำโขง อาณาจักรใหม่นี้มีประวัติรุ่งเรืองเหมือนอาณาจักรเดิมต่อมานั้นได้ย้ายจากเชียงแสนไปทางตะวันตกเฉียงใต้ และตั้งอาณาจักรขึ้นใหม่ที่ลุ่มแม่น้ำสาลวิน มีภุกามเป็นเมืองหลวง แต่อาณาจักรนี้ไม่ยั่งยืนเพราะอยู่ใกล้ขอมมาก จึงถูกขอมขับกลับไปเลยไปสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองหลวงใหม่ขึ้นที่  แม่น้ำปิง
          การอพยพลงมาทางใต้ยังคงดำเนินไปอยู่เรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเรียกกันว่าดินแดนแหลมทองหรือสุวรรณภูมิ อันเป็นที่ตั้งประเทศไทยปัจจุบันนี้ ได้มีชนชาติอื่นอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ได้แก่พวกละว้า ซึ่งได้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ 3 แคว้นด้วยกัน คือ
         1. แคว้นโยนก อยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย คือ ดินแดนที่เป็นมณฑลพายัพ และลานนาไทยปัจจุบัน มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองเชลียง (สวรรคโลก) ขึ้นไปจนตลอดหัวเมืองลานนา และลานช้าง ได้ตั้งราชธานี อยู่ที่เมืองเงินยาง (เชียงแสน)
          2. แคว้นทวารวาดี อยู่ตรงตอนกลางของประเทศไทย คือ ดินแดนบริเวณจังหวัดนครปฐม อยุธยา พิษณุโลก นครสวรรค์ ปราจีนบุรี รวมทั้งแหลมมลายู ตั้งราชธานีอยู่ที่นครปฐม
          3. แคว้นโคตรบูร อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยปัจจุบัน มีราชธานีอยู่ที่สกลนคร
          สำหรับแคว้นทวารวดีนั้น ต่อมาได้ถูกพวกมอญขยายอาณาเขตเข้ามาทางแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าครอบครองกลายเป็นอาณาจักรหนึ่งของชนชาติมอญ สันนิษฐานว่า พวกมอญคงจะได้ตั้งอาณาจักรนี้ขึ้น เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 10 และสิ้นสุดลงตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16 เนื่องจากอำนาจของขอมได้แผ่เข้ามายังภาคกลางของประเทศไทย อาณาจักรทวารวดี ก็เปลี่ยนมาเป็นอาณาจักรของขอม ซึ่งเรียกเป็นเฉพาะว่าอาณาจักรลพบุรี
สมัยทวารวดีนั้น มีศูนย์กลางอาณาจักรอยู่ที่นครปฐม ได้มีการขุดค้นพบหลักฐานต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบทวารวดีอย่างชัดเจน และได้มีการขุดค้นพบโบราณสถาน และหลักฐานต่าง ๆ สมัยทวารวดี ที่ภาคกลางของประเทศไทย เช่นที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และบ้านโคกไม้เดน อำเภอพยุหคีรี จังหวัดนครสวรรค์ และที่บ้านคูเมือง อ.อินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี โดยเฉพาะที่อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ได้ค้นพบเหรียญเงินมีตัวอักษร ในพุทธศตวรรษที่ 13 จารึก มีข้อความว่า “ศรีทวารวดีศวรปุณยะ” ซึ่งแปลว่า “บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี” อันเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งที่สนับสนุนคำว่า “ทวารวดี” มีจริงมิใช่เป็นการอ้างเลื่อนลอยโดยพบเหรียญที่มีข้อความดังกล่าวอีกหลายเหรียญ ณ ที่อื่น ๆ ก่อนหน้านี้แล้วจากการขุดค้นพบเมืองโบราณที่บ้านคูเมือง อ.อินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ทำให้ทราบว่าเมืองดังกล่าวได้สร้างขึ้นมา มีความเก่าแก่สมัยทวารวดีตอนต้นและตอนปลาย เรื่อยมาถึงอาณาจักรละโว้ ลักษณะรูปเมืองก็แสดงให้เห็นถึงลักษณะของเมืองสมัยทวารวดี
        ในราว พ.ศ. 1436 ขอมได้ครอบครองดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมดนั้น อำนาจของพวกละว้าที่อาศัยอยู่ตามเมืองโบราณต่างๆ นั้น ไม่ได้กระทบกระเทือนอะไร เพราะขอมได้ส่งคนไปปกครองเฉพาะเมืองสุโขทัย เมืองละโว้ และเมืองศรีเทพ ถึงกระนั้นก็มีหลักฐานจากศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์ของขอมก็ยังได้ส่งพระพุทธรูปชื่อ "พระชัยพุทธมหานาค" ออกมาประดิษฐานตามเมืองต่างๆ ที่อยู่ในดินแดนภาคกลางของประเทศไทยถึง 23 แห่ง ได้แก่ ลโวทยปุระ (เมืองละโว้)   สุวรรณปุระ (เมืองสุพรรณเก่า) คัมพูปัฏฎนะ (เข้าใจว่าเมืองแถบสระโกสิ-นารายณ์ หรือเมืองนครปฐม) ชัยราชบุรี (เมืองราชบุรี) ศรีชัยสิงห์บุรี (เข้าใจว่าเมืองสิงห์ ที่จังหวัดกาญจนบุรี) ศรีชัยวัชรบุรี (เข้าใจว่าเป็นเมืองเพชรบุรี)
        ในขณะที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงตั้งอาณาจักรสุโขทัยนั้น มีชนชาวไทยหลายพวกด้วยกันอพยพมาอยู่ในดินแดนตอนใต้ของคาบสมุทรอินโดจีน พวกที่มีกำลังเข้มแข็งก็ตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้น พวกที่อ่อนแอไม่สามารถรวบรวมกันเป็นปึกแผ่นได้ก็เข้ามาอยู่ในความปกครองของชนเหล่าอื่น ระหว่างระยะเวลานี้ มีเจ้านายไทยองค์หนึ่ง ปรากฎพระนามตามที่เรียกกันเป็นสามัญว่า พระเจ้าอู่ทอง ซึ่งเป็นเชื้อสายของราชวงศ์ไชยปราการ สามารถตั้งตนเป็นใหญ่ในบริเวณภาคกลาง แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยตั้งราชธานีขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 1893 ที่หนองโสน หรือบึงพระราม เพราะเห็นว่าอยู่ในทำเลที่เหมาะสมเป็นราชธานี ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์และการเมือง มีลำน้ำล้อมอยู่เป็นคูเมือง ได้แก่ลำน้ำป่าสัก ลำน้ำลพบุรี ลำน้ำเจ้าพระยา ลักษณะชัยภูมิดังกล่าวนี้มีความสำคัญยิ่งทางยุทธวิธีทำให้ปลอดภัยจากศัตรูผู้รุกราน สะดวกในการป้องกันเมืองและเหมาะสำหรับเป็นที่ตั้งมั่นรับข้าศึก เมื่อถึงฤดูน้ำหลากบริเวณนอกพระนครจะเจิ่งไปด้วยน้ำ ข้าศึกไม่สามารถจะตั้งทัพได้สะดวกต้องล่าถอยกลับไป
         สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วทรงตั้งพระราชโอรส (คือพระราเมศวร) ไปครองเมืองลพบุรีในฐานะเป็นเมืองลูกหลวง และเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญทางหนือ ในการที่จะคอยสดับตรับฟังข่าวคราวของอาณาจักรสุโขทัย และทรงตั้งขุนหลวงพะงั่ว (พี่มเหสี) เป็นพระบรมราชาให้ไปครองเมืองสุพรรณบุรี เมืองหน้าด่านทิศตะวันตก พระบรมราชาได้ยกกองทัพไปตีเมืองชัยนาท เป็นการขู่ขวัญฝ่ายสุโขทัยไว้ก่อน เหตุการณ์ช่วงนี้ แสดงให้เห็นว่าเมืองอินทร์ เมืองสิงห์บุรี เมืองพรหม ในสมัยนั้นอยู่ในความปกครองของกรุงศรีอยุธยาแล้ว
         ในปี พ.ศ. 1895 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ได้เสด็จยกทัพไปล้อมเมืองพระนครหลวง (นครธม) และได้ยึดเมืองพระนครหลวงได้ใน พ.ศ. 1896 ทำให้พระเดชานุภาพแพร่หลายทั่วไปเป็นผลให้เมืองต่าง ๆ เข้ามาสวามิภักดิ์เป็นเมืองขึ้นอีกเป็นส่วนมาก มีเมืองประเทศราช 20 เมือง เมือง      พระยามหานครถือน้ำพิพัฒสัตยา 8 เมือง เมืองลูกหลวง 5 เมือง เมืองหลานหลวง 2 เมือง
         สมเด็จพระรามาธิบดี 1 ทรงจัดการปกครองส่วนภูมิภาคตามแนวของกรุงสุโขทัย คือจัดเสมือนการจัดกองทัพเพื่อป้องกันข้าศึกศัตรู มีกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีอยู่กลาง เวลามีสงครามก็ระดมพลเมืองเข้าเป็นทัพหลวง มีกษัตริย์ผู้เป็นประมุขเป็นแม่ทัพใหญ่
          สำหรับการปกครองภายในราชธานีนั้น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ได้เริ่มนำการ  ปกครองแบบจตุสดมภ์มาใช้ กล่าวคือ การดำเนินการปกครองภายในราชธานี ได้ดำเนินตามแบบสุโขทัยและเขมรผสมกันมาเป็นแบบที่เรียกว่า “จตุสดมภ์” คือ จัดหน่วยงานแบ่งออกเป็น 4 หน่วยแต่ละหน่วยมีเสนาบดีเป็นผู้ควบคุมดูแลบริหารราชการ ลักษณะการจัดระเบียบเป็น 4 แผนกนั้นสันนิษฐานว่าจะเป็นแบบที่นำมาจากอินเดีย เพราะประเทศอื่น ๆ เช่น พม่า เขมร ชวา มลายู ต่างมีระเบียบ การแบ่งหน่วยราชการเป็น 4 แผนกเช่นกัน ส่วนของไทยได้รับสืบทอดมาจากเขมรอีกต่อหนึ่ง หน่วยงานทั้ง 4 แผนกคือ
            1. กรมเมือง มีขุนเมืองเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองรักษาสันติสุขบังคับบัญชาบรรดาไพร่บ้านพลเมือง ซึ่งมีถิ่นฐานภูมิลำเนาอยู่ในเขตเมืองหลวง รวมทั้งมีหน้าที่ลงโทษ ผู้กระทำผิดทางอาญาในเขตเมืองหลวงด้วย
            2. กรมวัง มีขุนวังเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่ที่เกี่ยวกับราชสำนัก และพิพากษาคดีด้วยและสำหรับหัวเมืองต่าง ๆ ขุนวังมีอำนาจตั้งยกกระบัตรไปประจำตามเมือง ๆ ละคน ทำหน้าที่พิพากษาคดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองนั้น ๆ ด้วย
            3. กรมคลัง มีขุนคลังเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่จ่าย และเก็บรักษาพระราชทรัพย์ตลอดจนการเงินของประเทศ
            4. กรมนา มีขุนนางเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่ควบคุมดูแลเกี่ยวกับเรือกสวนไร่นาและออกสิทธิที่นาซึ่งถือว่าเป็นงานสำคัญอย่างยิ่ง หน้าที่อีกอย่างหนึ่งคือ การเก็บ “หางข้าว” ขึ้นฉางหลวง (เพราะในสมัยโบราณยังไม่มีการเก็บเงินค่านา ใครทำนาได้ข้าวต้องแบ่งเอามาส่งขึ้นฉางหลวงไว้สำหรับใช้ในราชการเรียกว่า “หางข้าว”)
            จากหลักฐานการจัดการปกครองของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ที่ทรงจัดให้ เมืองพรหม เมืองอินทร์ เมืองสิงห์ เมืองสรรค์ เป็นหัวเมืองขึ้นในหน้าด่าน รายทางสำหรับทางทิศเหนือ โดยมีเมืองลพบุรีเป็นเมืองหน้าด่านหลักนั้น แสดงให้เห็นว่า เมืองพรหม เมืองอินทร์ เมืองสิงห์ ได้มีอยู่แล้วในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยถูกจัดให้เป็นหัวเมืองชั้นใน ก่อนหน้านั้นเมืองดังกล่าวทั้งสามนี้ อาจอยู่ในความ ปกครองของอาณาจักรสุโขทัยก็ได้ เพราะในช่วงที่อาณาจักรสุโขทัยรุ่งเรืองนั้น ได้มีอำนาจอิทธิพลแผ่ขยายครอบงำในบริเวณภาคกลางและลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี้ด้วย แต่ก็ไม่ปรากฏแน่ชัดว่า เมืองทั้งสามนี้ได้สร้างขึ้นในสมัยใน หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่หลงเหลืออยู่ ก็ไม่มีพอที่จะให้ค้นคว้าได้ ชาวไทยมักจะรู้จักประวัติศาสตร์ของคนดีก็ในยุคของอาณาจักรสุโขทัยสมัยราชวงศ์พระร่วงเป็นต้นมา
การปกครองกรุงศรีอยุธยามาแก้ไขมาก เมื่อรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเหตุด้วยเมื่อรัชกาลก่อน ได้อาณาเขตกรุงสุโขทัย ซึ่งได้ลดศักดิ์ลงเป็นประเทศราชอยู่นั้น มาเป็นเมืองขึ้น กรุงศรีอยุธยา และตีได้เมืองนครธม (พระนครหลวง) ซึ่งเป็นราชธานีของประเทศขอม เมื่อปีฉลู พ.ศ. 1976 ในสมัยนั้นได้ข้าราชการเมืองสุโขทัยและชาวกรุงกัมพูชา ทั้งพวกพราหมณ์ พวกเจ้านายท้าวพระยา ซึ่งชำนาญการปกครองมาไว้ในกรุงศรีอยุธยาเป็นอันมาก ได้ความรู้ขนบธรรมเนียมราชการงานเมืองทั้งทางกรุงสุโขทัยและกรุงกัมพูชาถ้วนถี่ดีกว่าที่เคยรู้มาแต่ก่อน จึงเป็นเหตุให้แก้ไขประเพณีการปกครอง เลือกทั้งแบบแผนในกรุงสุโขทัยและแบบแผนขอมในกรุงกัมพูชา มาปรับปรุงเป็นวิธีการปกครองกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถและต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์ที่ 2 ซึ่งเป็นราชโอรสสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ วิธีปกครองที่ปรับปรุงขึ้นเมื่อระหว่าง พ.ศ. 1991 จนถึง พ.ศ. 2072 ใน 2 รัชกาลที่กล่าวมาจึงได้เป็นหลัก ของวิธีปกครองประเทศสยามสืบมา ถึงแก้ไขบ้างในบางสมัยก็เป็นแต่แก้พลความตัวหลัก วิธียังคงอยู่จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์นี้
            การปกครองตามแบบพระบรมไตรโลกนาถนั้น ทรงจัดการปกครองในลักษณะแบบการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง หลักใหญ่คือ แบ่งการปกครองออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนกลาง ส่วน   ภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น กล่าวคือ การปกครองส่วนกลางได้แยกฝ่ายทหารกับพลเรือนออกจากกัน ฝ่ายทหารก็ให้มีหัวหน้าคนหนึ่ง คอยควบคุมดูแล มีบรรดาศักดิ์ เป็นสมุหกลาโหมดูแลราชการเกี่ยวกับการทหารทั้งหมด ฝ่ายพลเรือนก็มีสมุหนายกเป็นหัวหน้า และมีตำแหน่งรองลงไปคือจตุสดมภ์ และได้เปลี่ยนชื่อกรมเมือง เป็นนครบาล กรมวัง เป็นธรรมาธิการ กรมคลัง เป็นโกษาธิบดีและกรมนา เป็นเกษตราธิราช สำหรับการปกครองส่วนภูมิภาคให้เป็นแบบเดียวกันกับราชธานี โดยให้แต่ละเมืองใช้วิธีการปกครอง ฝ่ายพลเรือน คือ มีจตุสดมภ์ มีเวียง วัง คลัง นา ตามหัวเมืองนั้น ๆ ด้วย ได้กำหนดให้หัวเมืองชั้นในคือ บรรดาเมืองที่อยู่ใกล้ในวงราชธานีเป็นเมืองจัตวา หัวเมืองชั้นนอก ได้แก่หัวเมืองซึ่งอยู่นอกเขตวงราชธานีออกไป กำหนดฐานะเป็นหัวเมืองชั้นเอก โท ตรี โดยลำดับกันตามขนาดและความสำคัญของเมือง   ส่วนการปกครองส่วนท้องถิ่น มีการแบ่งอาณาเขตการปกครองท้องที่ออกเป็นหน่วย ๆ เริ่มต้น “หมู่บ้าน” มีผู้ใหญ่บ้านซึ่งผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้แต่งตั้งขึ้นเป็นหัวหน้าปกครองหลายหมู่บ้านรวมตัวกันเป็น “ตำบล” กำนัน ซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์ “พัน” เป็นหัวหน้าปกครองหลาย ๆ ตำบลรวมกันเป็น “แขวง” มีหมื่นแขวงเป็นผู้ปกครองหลาย ๆ แขวงรวมกันเป็นเมือง มีผู้รั้งเมืองหรือเจ้าเมืองเป็นผู้ ปกครอง
           ครั้ง แรก เมื่อปี พ.ศ. 2127 เป็นระยะที่ไทยประกาศอิสรภาพใหม่ ๆ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ได้ยกกองทัพมาตีไทยหวังให้ยอมอยู่ภายใต้อำนาจพม่าต่อไปอีก เพราะเห็นว่าไทยเสียบ้านเมืองมาก่อนกำลังที่จะต่อสู้ย่อมมีน้อยกว่าแต่ก่อน จึงไม่จำเป็นต้องยกทัพหลวงเข้ามาเหมือนอย่างครั้งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ก็คงจะตีกรุงศรีอยุธยาได้ พอถึงฤดูแล้วปลายปีนั้น จึงให้จัดทัพยกมาเป็น 2 ทางพร้อมกันประสงค์จะให้ไทยละล้าละลังในการที่จะต่อสู้ในครั้งนั้น ให้เจ้าเมืองพสิมซึ่งเป็นพระเจ้าอาคุมกองทัพจำนวนพล 30,000 คนยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ทัพ 1 ให้พระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพระอนุชายกกองทัพบกทัพเรือจากเชียงใหม่ จำนวนพล 100,000 คน ลงมาทางเมืองเหนืออีก   ทาง ๆ ให้มาสมทบกันตีกรุงศรีอยุธยา
           ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุธยานั้น สมเด็จพระนเรศวรทรงเตรียมการคอยท่าศึกอยู่แล้ว ให้กองสอดแนมออกไปคอยสืบสวนอยู่ทุกทางที่ข้าศึกจะยกมา ครั้งทรงทราบว่าข้าศึกจะยกมาเป็น 2 ทางจึงให้ตระเตรียมการต่อสู้ ให้จัดพลอาสาชาวหัวเมืองเหนือเป็นทัพบกทัพ ๆ มีจำนวนพล 10,000 คนให้เจ้าพระยาสุโขทัยเป็นนายทัพ แล้วจัดพลอาสาชาวกรุงฯ เป็นกองทัพเรืออีกทัพ 1 ให้พระยาจักรีเป็น นายทัพพระยาพระคลังเป็นยกกระบัตร และสั่งให้ขนย้ายเสบียงอาหารและพาหนะ ในหนทางที่ข้าศึกจะยกมาเสียให้พ้นมือข้าศึกทั้ง 2 ทาง แล้วให้ต้อนคนเข้าอยู่ในพระนคร เตรียมรักษาป้อมปราการเป็นสามารถ
            กอง ทัพหงสาวดียกเข้ามาครั้งนี้จะเป็นด้วยคิดโดยเลินเล่อหรือเป็นด้วยเจ้าเมือง พสิมกับพระเจ้าเชียงใหม่เข้าใจผิดกันอย่างใดอย่างหนึ่ง ยกเข้ามาหาพร้อมกันไม่ พอถึงเดือนอ้าย กองทัพเจ้าเมืองพสิมก็ยกเข้ามาในแดนไทยทางเมืองกาญจนบุรีแต่ทัพเดียว สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบก็เห็นได้ที แต่เวลานั้น น้ำลดยังไม่ถึงที่ น้ำในแม่น้ำลำคลองมีมาก แต่ทางบกแผ่นดินยังเปียก จะเดินกองทัพไม่สะดวก จึงมีรับสั่งให้พระยาจักรียกกองทัพเรือออกไปรักษาเมืองสุพรรณบุรี ต้านทานข้าศึกไว้พลางก่อน กองทัพเจ้าเมืองพสิมยกเข้ามาหมายจะเอาเมืองสุพรรณเป็นที่มั่น ถูกกองทัพเรือพระยาจักรีเอาปืนใหญ่ยิงทนอยู่ไม่ไหวก็ถอยกลับไปตั้งอยู่บนดอน ที่เขาพระยาแมน คอยฟังข่าวกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่อยู่ที่นั่น ครั้งถึงเดือนยี่ ขึ้น 2 ค่ำ สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถก็เสด็จด้วยกระบวนเรือจากกรุงศรีอยุธยา ไปทำพิธีเหยียบชิงชัยภูมิ ฟันไม้ข่มนามที่ตำบลลุมพลี แล้วเสด็จไปประทับที่ (ตำบล    ป่าโมก) แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ อันเป็นที่ประชุมพล โปรดให้เจ้าพระยาสุโขทัยคุมกองทัพบกเมืองเหนือยกเป็นกองหน้าไปตีกองทัพเจ้า เมืองพสิม ซึ่งตั้งอยู่ที่เขาพระยาแมนแล้วเสด็จยกกองทัพหลวงตามไปตั้งอยู่ที่ตำบลสาม ขนอนแขวงเมืองสุพรรณบุรี เจ้าพระยาสุโขทัยยกไปถึงเขาพระยาแมนได้รบพุ่งกับกองทัพหน้าของเจ้าเมืองพสิ มตีกองทัพพม่าแตกพ่ายไปฝ่ายเจ้าเมืองพสิมเวลานั้นเข้ามายึดเมืองไม่ได้หมาย ต้องออกไปตั้งอยู่กลางดอนขัดสนเสบียงอาหาร ฟังข่าวกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ก็ไม่ได้ความ ทำนองออกจะรวนเรอยู่แล้ว พอรู้ว่ากองทัพหน้าแตกก็ไม่ได้คิดจะต่อสู้   รีบถอยหนีกลับไป เจ้าพระยาสุโขทัยได้ทีก็รีบติดตามตีพม่าไปจนปลายแดนเมืองกาญจนบุรีจับได้ (นายกองชื่อ) ฉางชวีและช้างม้ามาถวายเป็นอันมาก
กองทัพเจ้าเมืองพสิมหนีไปได้สัก 15 วัน กองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ก็ยกลงมาถึงปากน้ำโพ ในเดือนยี่นั้น ด้วยหัวเมืองเหนือเวลานั้นร้างอยู่ทุกเมืองดังกล่าวมาแล้ว ไม่มีผู้ใดต่อสู้ก็ยกลงมาได้ โดยสะดวกทั้งทัพบกทัพเรือ พระเจ้าเชียงใหม่มาตั้งอยู่ที่เมืองชัยนาท ไม่รู้ว่ากองทัพเจ้าเมืองพสิมถอนหนีไปเสียแล้ว จึงให้ไชยะกยอสูและนันทกยอทางยกกองทัพหน้า จำนวนพล 15,000 คน ลงมาตั้งที่ปากน้ำบางพุทราแขวงเมืองพรหม ให้มาสืบสวนนัดกำหนดกับเจ้าเมืองพสิมที่จะยกเข้ากรุงศรีอยุธยาให้พร้อมกัน
            สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบว่า กองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ยกลงมาทางข้างเหนือ ก็เสด็จยกกองทัพหลวงไปกับสมเด็จพระเอกาทศรถตั้งทัพหลวงที่บ้านชะไวแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ แล้วให้พระราชมนูเป็นนายทัพ ขุนรามเดชะเป็นยกกระบัตรคุมกองทัพหน้ามีจำนวนทหารม้า 200 พลราบ 3,000 คน ยกขึ้นไปตีกองทัพหน้าของข้าศึกที่ปากน้ำบางพุทรา พระราชมนูกับขุนรามเดชะยกขึ้นไปถึงเห็นว่าจำนวนพลในกองทัพของตนมีน้อยกว่าข้าศึกมากนัก จึงคิดเป็นกลอุบายซุ่มกองทัพไว้ในป่า แล้วแต่งกองโจรให้แยกย้ายกันดักฆ่าฟันข้าศึกที่เที่ยวลาดตระเวนหาเสบียงอาหาร และคอยแย่งช้างม้าพาหนะมิให้เอาไปเลี้ยงห่างค่ายใหญ่ได้ ถ้าข้าศึกตามจับเห็นมากก็หลบเลี่ยงไปเสีย ด้วยชำนาญท้องที่กว่าข้าศึก แต่พอเห็นข้าศึกเผลอก็เข้าปล้นทัพมิให้ข้าศึกอยู่เป็นปกติได้ ทัพหน้าข้าศึกตั้งอยู่ไม่ได้ ก็ต้องถอยกลับไปเมืองชัยนาท พระเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้ข่าวว่า กองทัพเจ้าเมืองพสิม ซึ่งยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เสียทีไทยถอนหนีกลับไปเสียแล้ว เห็นจะตีพระนครศรีอยุธยาไม่สำเร็จก็เลิกทัพกลับไป
         ในปี พ.ศ. 2308 พระเจ้ามังระได้ให้มังมหานรธายกทัพเจ้ามาทางเมืองมะริดส่วนทางเหนือให้เน เมียวสีหบดีเคลื่อนกองทัพออกจากเชียงใหม่ตีหัวเมืองต่าง ๆ เรื่อยมา ในระยะแรกที่ฝ่ายไทยได้ทราบข่าวศึกและเห็นว่าพม่าจะต้องยกมาตีไทยแน่นอน จึงได้เตรียมการต่อสู้พม่า
            การที่กรุงศรีอยุธยาได้จัดเตรียมการป้องกันพระนครและเตรียมสู้รบพม่า โดยจัดแบ่งออกเป็นกองย่อย ๆ มากมายและแยกไปตั้งอยู่ตามจุดต่าง ๆ โดยพม่ายกทัพมาจริง ๆ ยกมาเพียง 2 ทางเท่านั้น ดังนั้น กองทัพไทยที่ไปอยู่อีกหลายจุด จึงไม่ได้สู้รบกับพม่าเลย ทำให้เสียกำลังทัพ ไม่ได้ใช้ประโยชน์เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ไทยต้องเสียกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งที่สอง
            ในขณะที่พม่าตั้งค่ายขยายวงล้อมกรุงศรีอยุธยา โดยมีทัพของเนเมียวสีหบดี ตั้งค่ายทางเหนือของอยุธยาแถบบ้านประสบ (พระประสบ) เนเมียวสีหบดีได้ให้ทหารพม่าจำนวนหนึ่ง ไปเที่ยวค้นทรัพย์จับผู้คนทางเมืองวิเศษไชยชาญและได้ตั้งค่ายอยู่ที่เมืองวิเศษไชยชาญ ได้เกลี้ยกล่อมให้พวกราษฎรให้ยอมอยู่ในอำนาจเป็นพวกของพม่า ขณะนั้นราษฎรในเขตเมืองวิเศษไชยชาญ เมืองสิงห์บุรี เมืองสรรค์บุรี และเมืองสุพรรณบุรี ได้อพยพไปพึ่งอาจารย์ธรรมโชติ ที่บ้านบางระจัน ซึ่งอยู่ในท้องที่เมืองสิงห์บุรี พม่าได้ส่งคนไปเกลี้ยกล่อมให้เข้าเป็นพวกของพม่า แต่ชาวไทยกลุ่มนี้มีความรักชาติ ไม่ยอมเข้ากับพม่า ได้รวมกำลังกันต่อสู้กับพม่าและสามารถเอาชนะกองทหารพม่าถึง 7 ครั้ง ในการรบครั้งที่ 8 ชาวบ้านบางระจันจึงพ่ายแพ้พม่า เพราะไม่ได้รับกำลังช่วยเหลือจากทางกรุงศรีอยุธยา แม้ทางชาวบ้านบางระจันจะส่งคนมาขอปืนใหญ่จากรุงศรีอยุธยา 2 กระบอกแต่ทางกรุงไม่ให้ เสนาบดีกราบทูลสมเด็จพระยาเอกทัศน์ว่า “…ถ้าค่ายบ้านบางระจันเสียแก่พม่า พม่าก็จะเอาปืนเข้ามารบกรุงจะให้ไปนั้นมิบังควร…” พระเจ้าแผ่นดินทรงเชื่อตามคำกราบทูล จึงไม่ทรงให้ปืนใหญ่แก่ชาวบ้านบางระจัน แต่ให้ได้พระยารัตนาธิเบศร์ออกไปหล่อปืนที่บ้านบางระจัน การหล่อปืนใหญ่จะต้องใช้เวลานานพอสมควร ชาวบางระจัน จึงถูกพม่าซึ่งนำโดยพระนายกองตีแตกชาวบ้านบางระจันได้ยืนหยัดต่อสู้พม่าเป็นเวลานานถึง 5 เดือนจึงเศษจึงเสียทีแก่พม่า ชาวบ้านที่มีชีวิตอยู่รวมทั้งเด็กและสตรีถูกพม่าจับไปเป็นเชลยเป็นส่วนใหญ่ ที่หนีรอดไปได้นั้นมีน้อย ชาวบ้านบางระจัน เป็นตัวอย่างอันดีในการแสดงออก ซึ่งความรักชาติบ้านเมืองยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ
          หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึก เมื่อ พ.ศ. 2310 กล่าวได้ว่ากรุงศรีอยุธยาอยู่ในสภาพยับเยินเสียหายมาก ทั้งปราสาทราชวัง วัดวาอาราม และบ้านเรือนของประชาชนถูกเพลิงไหม้เสียหายเป็นส่วนใหญ่ บรรดาประชาชนถูกพม่ากวาดต้อนไปเป็นเชลยประมาณ 1 แสนครอบครัวส่วนที่เหลืออยู่ ก็มีความทุกข์ยากลำบากล้มตายและฆ่าฟันกันเองทุกหนทุกแห่งเป็นสภาพที่นับว่าเสียหายมาก ซึ่งไม่เคยปรากฏผลความเสียหายเช่นนี้มาเลยในอดีต กรุงศรีอยุธยาซึ่งได้ดำรงปกครองตนเองมาเป็นเวลานานถึง 417 ปี มีกษัตริย์ปกครองติดต่อกันมาถึง 34 องค์ ก็ต้องถึงแก่กาลอวสานเสียบ้านเมืองให้แก่พม่า เพราะเหตุที่พระเจ้าแผ่นดินอ่อนแอและคนไทยแตกความสามัคคี แต่เมืองไทยก็ยังโชคดีที่มีคนดีมีความสามารถมากอบกู้ชนชาติไทย ให้รวมกันเป็นปึกแผ่นได้อีกสมกับที่ว่ากรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี บุคคลผู้นั้นคือ “พระยาวชิระปราการ” หรือที่รู้จักกันในนามของ “พระยาตาก” ได้ทำสงครามขับไล่พม่าออกจากค่ายโพธิ์สามต้นแล้ว จึงเลือกเอากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงสืบต่อมา กรุงศรีอยุธยาจึงได้กลายเป็นอดีต “กรุงเก่า”
            การปกครองในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีลักษณะคล้าย ๆ กับการปกครอง ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้างในส่วนที่เกี่ยวกับการ ปกครองในส่วนภูมิภาคที่สำคัญคือ ได้มีการจัดแบ่ง หัวเมืองขึ้นกลาโหม มหาดไทย และกรมท่าใหม่ กล่าวคือ รัชกาลที่ 1 ทรงพระราชดำริว่า เมื่อครั้งกรุงเก่าเมืองปักษ์ใต้ยกมาขึ้นแก่กรมท่านั้น เพราะกลาโหมมีความผิด บัดนี้ เจ้าพระยามหาเสนา ที่สมุหกลาโหมมีความชอบมาก จึงให้แบ่งหัวเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายตะวันตกซึ่งขึ้นกรมท่า 19 เมืองขึ้นมหาดไทย 1 เมือง รวม 20 เมือง ซึ่งต่อสมุหกลาโหมทำให้การบังคับบัญชาหัวเมืองในส่วนภูมิภาคอยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายต่างๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น